รู้จักโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร (Monnkeypox Virus) เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับโรคอีสุกอีใส หรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้ ร่วมกับมีตุ่มผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และต่อมน้ำเหลืองโต


โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร คืออะไร

โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร (Monnkeypox Virus) เป็นโรคที่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศคองโก โดยพบการติดเชื้อของสัตว์ตระกูลลิงในห้องแล็ป นอกจากนี้ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ อย่าง หนู กระรอก กระต่าย เป็นโรคตระกูลเดียวกับฝีดาษที่เกิดขึ้นในคน หรือไข้ทรพิษ

โรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ

  1. สายพันธุ์แอฟริกากลาง มีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต
  2. สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้


 อาการที่ควรเฝ้าระวังของโรคฝีดาษลิง

  1. อาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน
  2. มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  3. ต่อมน้ำเหลืองโต
  4. หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
    4.1 มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น
    4.2 ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน
    4.3 ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออกและแห้งไปเอง
  5. อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย
  6. บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้

การติดต่อของโรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร

โรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร สามารถแพร่กระจายได้ง่าย แบ่งออกเป็น

1. การติดต่อจากสัตว์สู่คน

  • สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ
  • ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือข่วน
  • กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ และปรุงสุกไม่เพียงพอ

2. การติดต่อจากคนสู่คน

  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่ง จากผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรือละอองฝอยจากการหายใจ
  • มีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้ อาการรุนแรงมักพบในเด็ก ขึ้นกับปริมาณไวรัสที่ได้รับ

ระยะฟักตัว และอาการของโรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร

ระยะเวลาฟักตัว (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงเริ่มแสดงอาการ) ของโรคฝีดาษวานรมีตั้งแต่ 7-21 วัน โดยอาการจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

  • ระยะก่อนออกผื่น ประมาณ 0-5 วัน มีไข้, ปวดศีรษะมาก, ต่อมน้ำเหลืองโต, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก  ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานร เปรียบเทียบกับโรคอื่นที่อาจแสดงอาการแรกเริ่มคล้ายกัน (อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ)
  • ระยะออกผื่น  ปกติเริ่มภายใน 1-3 วันหลังจากเริ่มมีไข้  ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา สามารถเกิดตุ่มผื่นได้ทั้ง ใบหน้า ,ฝ่ามือฝ่าเท้า,เยื่อบุช่องปาก ,อวัยวะเพศ,เยื่อบุตา และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วย

โดยผื่นเริ่มจากผื่นแดง จากนั้นค่อย ๆ เป็นเป็น ผื่นนูน (เป็นตุ่มแข็งนูนเล็กน้อย) กลายเป็นถุงน้ำ (มีของเหลวใสบรรจุอยู่ภายใน) เกิดตุ่มหนอง (มีของเหลวสีเหลืองบรรจุอยู่ภายใน) และเป็นฝี จนตุ่มหนองแตกและแห้งเป็นสะเก็ด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น


การรักษาโรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงแบบจำเพาะ แต่จะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ และควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อน อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้อยู่ที่ 1-10% ซึ่งต่ำกว่าไข้ทรพิษมาก

สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC แนะนำให้ฉีดวัคซีนภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดโรค และฉีดวัคซีนภายใน 14 วันเพื่อลดความรุนแรงของโรค

ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนเฉพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง ชื่อว่า วัคซีน Ankara ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้วัคซีนโรคไข้ทรพิษ


การป้องกันโรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร

  • หลีกเลี่ยงสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์
  • กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก
  • ล้างมือบ่อย ๆ
  • ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
  • เฝ้าระวังอาการ 21 วันหลังกลับจากประเทศเขตติดโรค